น้ำพุร้อน เกิดจากอะไร เราเคยสอบถามนักธรณีวิทยา เขาก็บอกว่า น้ำพุร้อนนั้นเป็น ปรากฏการณ์ของธรรมชาติ บริเวณที่เป็นแหล่งน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนใต้ดินไหลผ่านแล้วโผล่ขึ้นมาจากชั้นใต้ดิน โดยมีระยะเวลาสะสมยาวนานหลายพันล้านปีและเป็นแหล่งสำคัญของชั้นดิน และหินแถวบริเวณหินอัคนีหรือหินภูเขาไฟ เมื่อน้ำใต้ดินได้รับการถ่ายเทความร้อนจากหินอัคนีที่ร้อนในระดับลึก จนไหลย้อนกลับสู่ผิวดิน ถ้าบริเวณนั้นร้อนมากก็จะมีแรงกดดันสูง และจะปะทุระเบิดผิวดินออกมาเป็นน้ำพุร้อน ถ้าร้อนไม่มาก แรงกดต่ำ น้ำจะซึมออกมา หรือมีเพียงควันกรุ่นลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ เช่น นำพุร้อนที่ระนอง หากน้ำพุร้อนไม่มาก แต่ผุดขึ้นผิวดินจนเป็นโคลนร้อน ให้คิดถึงภูโคลนที่ดัง ๆ ของแม่ฮ่องสอน และถ้าพุ่งขึ้นแรง ๆ ล่ะก็ ให้นึกถึง น้ำพุร้อนที่ป่าแป่หรือโป่งเดือดที่เชียงใหม่ได้เลย
เรารู้จัก น้ำพุร้อน กันตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณโน่นที่เดียว เช่น ยุคกรีก เขาจะมีวัฒนธรรมการอาบน้ำร่วมกัน โดยสร้างอ่างอาบน้ำในบริเวณที่มีน้ำแร่หรือน้ำพุร้อนจากภูเขาไฟ โดยเฉพาะชนชั้ผู้ดีมีชื่อเสียง จะมาอาบน้ำแร่หรือน้ำพุร้อนควบคู่ไปกับการถกเถียงพูดคุยเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองหรือไม่ก็อาบนำเพื่อการบำบัด แม้แต่ “ฮิปโปเครติส” บิดาทางการแพทย์ยังบอกว่า “น้ำเป็นยาบำบัดที่ดี เป็นยารักษาโรคสารพัน” ในยุคโรมัน ประชาชนนิยมชมชอบในการอาบน้ำพุร้อนเพื่อผ่อนคลายและบำบัดรักษาโรคเพื่อสุขภาพที่ดีแล้วก็แพร่หลายตกทอดเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
ทางแถบเอเชียของเราบ้าง ประเทศที่มีประเพณีอาบน้ำพุร้อนร่วมกันเหมือนชาวยุโรป คือชาวญี่ปุ่นที่เรียกกันคุ้นหูว่า”ออนเซ็น” (Onsen) ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่กลางธรรมชาติ ทำให้ผู้มาอาบน้ำพุร้อนได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด มีออนเซ็นหรือสปาน้ำพุร้อนในญี่ปุ่นกว่า 2,000 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ของเกาะญี่ปุ่น เช่นที่เมืองเบปปุ (Beppu) และเมืองยูฟูอิน(Yufuin) เวลาเดินทางไปใกล้เมืองจะเห็นไอควันกรุ่นของน้ำพุร้อนพวยพุ่งขึ้นปกคลุมเมืองอย่างกับเมืองในหมอก ชาวญี่ปุ่นต่างเมืองนิยมพักร้อนด้วยการไปอาบน้ำพุร้อนกันอย่างคึกคักตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว เพราะน้ำพุร้อนจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น
ผิวพรรณสดชื่น บำบัดรักษาสุขภาพได้อย่างดี
สำหรับสตรีชาวญี่ปุ่นด้วยแล้ว การอาบน้ำพุร้อนร่วมกันยังถือว่าเป็นการพบปะทางสังคมอย่างหนึ่ง
ที่อาจจะมีการพูดคุยกันในเรื่องต่าง ๆ ตามประสาผู้หญิง ๆ เพียงแต่ว่าไม่คุยกันเอะอะให้เป็นที่รำคาญหูเกินไปนัก เพราะโดยทั่วไปผู้ที่มายังสถานที่เช่นนี้ต่างมีวัตถุประสงค์เพื่อสุขภาพที่ดี ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจที่เหนื่อยล้า
คราวนี้มาถึงเมืองไทย แม้ว่าจะมีแหล่งน้ำพุร้อนอยู่มากมายหลายแห่ง แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมานานและเก่าแก่มากที่สุด คือน้ำพุร้อนเมืองระนอง ดังพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองระนอง ปี ร.ศ. ๑๐๙ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๓ สมัยนั้นมีการค้นพบน้ำพุร้อน เพราะเมืองนี้เป็นเมืองแร่อยู่เต็มเมืองพระองค์ได้พระราชทานชื่อถนนในเขตเทศบาลเมืองระนอง ชื่อคล้องจองกันรวม ๑๐ สาย ได้แก่ ท่าเมือง เรื่องราษฎร์ ชาติเฉลิม เพิ่มผล ชลระอุ ลุวัง กำลังทรัพย์ ดับคดี ทวีสินค้า ผาดาด โดยพระราชทานชื่อตามการใช้ประโยชน์ เช่น ถนนชลระอุ แปลว่า
ถนนน้ำร้อน ทรงบันทึกไว้ว่า “ถนนทางไปบ่อน้ำร้อน ๗๐ เศษ ให้ชื่อถนนชลละอุ” นอกจากนี้ เมื่อมีการสร้างถนนใหม่เพิ่มก็ยังเป็นธรรมเนียมในการตั้งชื่อคล้องจองต่อไปว่า ราชพาณิชย์ กิจผดุง บำรุงสถาน รวมเป็น ๑๓ สาย น่าเสียดายที่ว่าป้ายถนนเมืองระนองน่าจะทำให้สวยงามและเป็นเอกลักษณ์เหมือนเมืองอื่น ๆ มากกว่านี้ ให้สมกับเป็นชื่อถนนพระราชทานจากรัชกาลที่ ๕
เครดิตภาพ
file:///storage/emulated/0/Download/4236372.jpg